อร่อยดี-มีคุณประโยชน์ ‘บริโภคผลไม้ไทย’ เพื่อชาวสวน-เพื่อชาติ!

วันที่ 27 พฤษภาคม 2552 จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
กรณี “ราคาผลไม้ตกต่ำ” กรณี “เกษตรกรชาวสวนผลไม้เดือดร้อน” กำลังเป็นปัญหาอีกครั้งแล้วในปี 2552 นี้ ซึ่งระยะหลัง ๆ กรณีชาวสวนผลไม้เดือดร้อนแทบจะกลายเป็นอีกปัญหาเกษตรประจำปีไปแล้ว ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น… ผลผลิตล้นตลาด, พ่อค้าคนกลางกดราคา, ต้นทุน การผลิตสูง ฯลฯ

การแก้ปัญหาระยะกลาง-ระยะยาว…ถึงวันนี้ยังไม่เห็นผลนัก

เฉพาะหน้าตอนนี้…คนไทยทุกฝ่ายก็ต้องช่วยเกษตรกรไทย !!

คนไทยเราโชคดี เมืองไทยเรามีผลไม้ที่ไม่เป็นรองชาติใดในโลกที่มี ผลไม้มาก ไม่ว่าจะในเรื่องความหลากหลายของชนิด รสชาติของผลไม้ รวมถึง คุณประโยชน์ของผลไม้ที่มีต่อสุขภาพร่างกาย หลาย ๆ ชาติยกให้ไทยเราเป็นหนึ่งด้วยซ้ำ ซึ่งหากคนไทยเราเองกลับมองข้าม “ความสุดยอดของผลไม้ไทย” ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลไม้ มีคุณค่าทางโภชนาการทั่วไปใกล้เคียงกับผัก เป็นแหล่งวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหารหรือไฟเบอร์ (Fiber) ให้พลังงาน ซึ่งมีทั้งกลุ่มให้พลังงานต่ำและสูงให้เลือกบริโภค เพื่อสุขภาพที่ดี ทั้งเด็กเล็ก-เด็กโต-ผู้ใหญ่ควรบริโภคผลไม้เป็นประจำ

ผลไม้ไทยมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด มีวิตามิน และแร่ธาตุ ที่ช่วยกระบวนการปฏิกิริยาเคมีของร่างกาย หรือเมตาบอริซึ่ม (Metabolism) มีคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง และน้ำตาล ที่ให้พลังงาน มีใยอาหาร …ที่ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย ช่วยลดคอเลสเตอรอล และยังมีสารป้องกันมะเร็งด้วย

สำหรับผลไม้อร่อย ๆ ที่ตอนนี้มีผลผลิตมาก ราคาไม่แพง อย่าง “ลิ้นจี่” คุณประโยชน์ของผลสด โดยสรุปคือ… อุดมด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ช่วยการย่อยอาหาร บำรุงอวัยวะภายในต่าง ๆ และระบบประสาท นอกจากนี้ ยังบรรเทาอาการกระหายน้ำด้วย ขณะเดียวกัน ลิ้นจี่ยังสามารถนำมาใช้ในเชิงสรรพคุณ ทางยาได้หลายอย่าง

“เงาะ” ตอนนี้ก็กำลังมีผลผลิตคุณภาพดี รสชาติอร่อย ราคาไม่แพง ออกมามาก ซึ่งคุณประโยชน์ของผลสดโดยสรุปคือ… อุดมด้วยวิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ใยอาหาร ช่วยป้องกันการป่วยเป็นโรคหวัด และมีสารต้านอนุมูล อิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง อีกทั้งเงาะสดยังสามารถแก้อาการท้องร่วงได้

อีกชนิดที่ตอนนี้มีออกมามากคือ “มังคุด” ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ราชินี แห่งผลไม้” นี่ก็จัดเป็นอาหารเชิงพันธภาพ เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอก เหนือไปจากรสชาติความอร่อยและมีกลิ่นหอม ในเนื้อมังคุดมีสารอาหาร ได้แก่ น้ำตาล และใยอาหาร และที่สำคัญคือมังคุดมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง

“ราชาแห่งผลไม้” หรือ “ทุเรียน” ที่ชาวต่างชาติหลายชาติโปรดปราน เช่น ชาวญี่ปุ่น ช่วงนี้ก็ราคาไม่แพงและมีผลผลิตให้คนไทยเรากันเองได้บริโภคมาก ซึ่งทุเรียนนี้ก็มีสรรพคุณน่าสนใจ บริโภคอย่างพอดี ๆ จะอร่อยอย่างมีประโยชน์ ซึ่งนอกจากประโยชน์ตามสไตล์ของผลไม้ไทยโดยทั่วไปแล้ว ทราบหรือไม่ว่า…เนื้อทุเรียนที่มีรสชาติหวานหอมนั้น ยังมีสรรพคุณช่วยแก้โรคผิวหนัง ช่วยทำให้ฝีแห้ง และช่วยขับพยาธิได้อีกต่างหาก

ทุเรียน-มังคุด-เงาะ-ลิ้นจี่…นี่เพียงแค่ยกตัวอย่างโดยสังเขป

ช่วงนี้ยังมีผลไม้ไทยดี ๆ อื่น ๆ ที่ราคาไม่แพง…อีกเพียบ !!

ตัดกลับมาที่การช่วยเหลือชาวสวนผลไม้ กับปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ รัฐบาล โดยหลายกระทรวง ก็กำลังตื่นตัวกันอยู่ ขณะที่องค์กรสำคัญในการสนับสนุน เกษตรกรไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็กำหนด 7 ช่องทางหลัก ๆ ในการช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นตั้งเป้าทำตลาดให้เกษตรกรได้กว่า 1,000 ตัน

ทั้งนี้ เอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยในการแถลงข่าวที่ “สวนยายดา” ซึ่งเป็นทั้งสวนผลไม้และแหล่งท่องเที่ยว ที่ ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง โดยบอกว่า… 7 ช่องทางนี้ได้แก่… 1. เชื่อมโยงตลาดทั่วประเทศผ่าน สกต. หรือสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. เพื่อช่วยกระจายผลไม้สู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ 2. ร่วมกับห้างสรรพสินค้า เช่น เดอะมอลล์ ท็อปส์ซูเปอร์มาเก็ต โลตัส ส่งผลไม้จำหน่ายตามสาขาทั่วประเทศ 3. ประสานส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สื่อมวลชน เพื่อขอพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลไม้เข้าจำหน่าย

4. ประสานงานผู้ค้าต้นทางกับผู้ค้าตลาดปลายทางเพื่อนำผลไม้ไปส่งตามตลาดกลางของจังหวัดต่าง ๆ เช่น ตลาดกลางผลไม้ราชบุรี พิษณุโลก เป็นต้น 5. ร่วมกับสมาคมผู้ค้าผลไม้รวบรวมผลผลิตเพื่อจัดจำหน่ายให้พ่อค้าส่งทั่วประเทศ 6. จำหน่ายผลไม้ผ่านชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซีย และ 7. นำผลไม้มาจำหน่ายผ่านสาขา ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ และ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ ซึ่งก็มีลูกค้าเป็นหมื่น ๆ คนเช่นกัน

“ส่วนตลาดต่างประเทศ ธ.ก.ส.ก็จะร่วมกับเอกชน เช่น บริษัทไทยฮงผลไม้ รวบรวมผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง ส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น จีน ซึ่งเป็นตลาดผลไม้ส่งออกรายใหม่ของไทย และร่วมกับส่วนราชการนำผลไม้ไปจัดแสดงและจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ เช่น จีน อินเดีย”

รักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุด้วยว่า… สำหรับประชาชนคนไทยทั่วไปก็อยากให้ช่วยกันให้กำลังใจพี่น้องเกษตรกร ช่วยชาวสวนผลไม้ ซึ่งภาคการเกษตรนั้นก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากของภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน หากรายได้เกษตรกร-หากเศรษฐกิจภาคเกษตรย่ำแย่ด้วย ปัญหาเศรษฐกิจไทยก็จะยิ่งไปกันใหญ่

“ผลไม้ไทย” หากินก็ง่าย-รสชาติก็เยี่ยม-คุณประโยชน์ก็ยอด

ช่วงนี้ผลไม้ไทยคุณภาพดี ๆ ราคาไม่แพงมีให้ซื้อ-ให้กินเยอะ

มาอร่อยเพื่อสุขภาพ-เพื่อเกษตรกร-เพื่อชาติ…กันเถอะ !!!.

Leave a comment »

เกษตรมีคำตอบ : วิธีขยายพันธุ์หวายดง

วันที่ 24 เมษายน 2552 จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

มีถามเข้ามาเรื่องการเพาะขยายพันธุ์หวายดง เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ของตนเองแบบวนเกษตร โดยให้เจริญเติบโตเองตามธรรมชาติ แต่สามารถเก็บเกี่ยวทั้งหน่อและลำต้นมาใช้ประโยชน์ได้

สอบถามไปยังผู้รู้ได้รับคำตอบว่า สามารถทำได้ซึ่งดีและเหมาะสมที่จะดำเนินการเช่นนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน

หวายดง เป็นหวายที่มีลำต้นขนาดปาน  กลาง เส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 1/2-1 นิ้ว ลำต้นและกาบใบมีหนาม ใบย่อยที่ประกอบบนก้านใบมีจำนวนประมาณ 75-90 ใบ มีการเรียงตัว     กันเป็นกระจุกแบบตรงกันข้าม กระจุกละ 5-8 ใบ รากเป็นระบบรากแขนงมากมายประสานกันอยู่ตามลักษณะของพืชตระกูลปาล์มทั่ว ๆ ไป มีอวัยวะที่ใช้ปีนป่าย เป็นก้านยาว ๆ ยื่นออกมาจากจุดกำเนิดตรงส่วนบนของกาบหุ้มลำ และมีหนามโดยตลอดซึ่งทำหน้าที่เป็นมือเกี่ยว จะสร้างช่อดอกออกมาจากลำต้น   ตรงส่วนที่มีกาบใบหุ้ม โดยทยอยสร้างไม่พร้อมกันซึ่งหลังจากออกดอกแล้ว ส่วนยอดก็ยังสามารถเจริญ       เติบโตเป็นลำต้นต่อไปได้เรื่อย ๆ ผลมีลักษณะเป็นเกล็ดซ้อนทับกัน เมื่อแก่แล้วมีสีขาวเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร เมื่ออายุได้ 2-3 ปี จะเริ่มติดดอกและให้ผลที่สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้

วัสดุปลูกที่บรรจุถุงเพาะชำ ที่เหมาะที่สุด ได้แก่ ดินขุยไผ่ผสมปุ๋ยคอก (มูลโค) ที่สลายตัว        ดีแล้ว ในอัตราส่วน 3 : 1 ถุงขนาด 4×8 ต้นกล้าหวายที่ย้ายชำลงถุงแล้วควรเก็บไว้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดประมาณ 50% ดูแลรดน้ำวันละครั้ง

การปลูกเหมาะสมในช่วงฤดูฝน คือเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ต้นกล้าควรจะมีความสูงประมาณ 40-60 เซนติเมตร และการปลูกแบบวนเกษตรเหมาะสม เพราะหวายดงจะมีสิ่งยึดเกาะมาก การเลื้อยจะดีอันจะได้มาซึ่งต้นหวายไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หน่อก็แทงเร็วเก็บเกี่ยวมาบริโภคได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย พื้นที่ทางภาคอีสานของไทยเหมาะในการปลูก ปัจจุบันมีมากที่จังหวัดมุกดาหาร.

หมอเกษตร

Leave a comment »

เกษตรเพื่ออาหารกลางวันพื้นฐานสู่วิถีศก.พอเพียง

1 เม.ย. 52 จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหัวเรือใหญ่ดำเนิน โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งก็ได้ขับเคลื่อนงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2535

เป้าหมายมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กนักเรียน ครู และครอบครัวที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารร่วมกันทำการเกษตรในโรงเรียนแล้ว นำผลผลิตมาประกอบเป็นอาหารกลางวัน ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาทักษะด้านการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตการเกษตรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต และมุ่งให้เป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรสู่ชุมชนด้วย

นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันว่า….ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรได้ขยายผลโครงการฯไปสู่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารแล้วทั้งสิ้น 615 โรงเรียน ในพื้นที่ 44 จังหวัด แยกเป็น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 194 โรงเรียน โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 158 โรงเรียน ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง249 โรงเรียน และโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม 14 โรงเรียน

ในปี 2552 นี้ กรมฯมีแผนเร่งขยายผลเพิ่มเติมอีกโดยมีเป้าหมาย จำนวน 648 โรงเรียน ใน 47 จังหวัด เบื้องต้นได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อพันธุ์พืช วัสดุอุปกรณ์การเกษตรให้แก่โรงเรียนในโครงการฯ รวมทั้งเร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้โดยจัดฝึกอบรมครู จำนวน 800 ราย เพื่อพัฒนาความรู้เรื่องการเกษตรแบบยั่งยืน…

โดยจัดทำแปลง ปลูกพืชผัก ไม้ผล เห็ด และถั่วเมล็ดแห้ง พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการถนอมและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ทั้งยังส่งเสริมให้มีการเรียนรู้แบบประยุกต์ใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกรในกลุ่มยุวเกษตรกรจำนวน 371 โรงเรียน และพัฒนาอาชีพเกษตรกรในหมู่บ้านที่โรงเรียน ตชด. ตั้งอยู่ จำนวน 192 หมู่บ้าน จัดตั้ง ศูนย์ส่งเสริมการผลิตกล้าพันธุ์ ไม้ผล-ผักพืชบ้าน และ สมุนไพร จำนวน 18 ศูนย์ เพื่อสนับสนุนให้นำไปใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวด้วยว่า ปีที่ผ่านมาได้นำร่องให้ กลุ่มยุวเกษตรกร โรงเรียน ตชด.ตะโกปิดทอง บ้านตะโกบน หมู่ 8 ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ได้เรียน รู้แบบประยุกต์โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการ จัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจซึ่งทำให้ยุวเกษตรกรได้เรียนรู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและวิเคราะห์ปัญหา ตั้งแต่สำรวจแปลงติดตามสถานการณ์ตัดสินใจเลือกวิธีควบคุมศัตรูพืชที่เหมาะ สมด้วยตนเอง

อีกทั้งยังนำข้อมูลมาวางแผน จัดการผลิตผักและป้องกันศัตรูพืชได้ อย่างถูกต้อง สามารถช่วยรักษาพืชผลการเกษตรไม่ให้ได้รับความเสียหาย ลดปริมาณการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิตและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปีนี้มีแผนเร่งขยายผลการดำเนินงานไปสู่ในโรงเรียน ตชด.ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี รวม 12 แห่งและโรงเรียน ตชด.ในพื้นที่ภาคใต้ อีกด้วย

นอกเหนือจากอาชีพการเกษตรแล้ว ยังมีการฝึกพื้นฐานอาชีพอื่นๆ อาทิ การประกอบอาหาร การแปรรูปถนอมอาหาร การเพาะขยายพันธุ์ไม้พันธุ์สัตว์ ศิลปหัตถกรรม ตัดเย็บเสื้อผ้า ก่อสร้าง ช่างยนต์ ช่างไม้ ช่างไฟฟ้า และงานซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในครัวเรือน ซึ่งจะเป็นความรู้ในอนาคต

…อันจะเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้เกิดความสุขตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง…!!!

ไชยรัตน์ ส้มฉุน

Leave a comment »

เกษตรฯ เปิดช่องทางทำกินรองรับ “คนว่างงาน”

วันที่ 24 มีนาคม 2552 จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดปัญหา “คนตกงาน” เป็นจำนวนมาก หลังถูกเลิกจ้างแรงงานส่วนใหญ่เลือกที่จะอพยพคืนถิ่น..พูดง่าย ๆ คือ กลับไปตั้งหลัก… ซึ่งอาจมีบางส่วน (หลายหมื่นราย) ตัดสินใจหันเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรม ขณะที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากจุดใด….แต่กรมส่งเสริมการเกษตร รู้ทันจึงได้เตรียมแผนรองรับแรงงานคืนถิ่นโดยเฉพาะการพัฒนาอาชีพและฝีมือแรงงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจมีช่องทางทำกิน ช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้ ถือเป็นข่าวดี…ต้องติดตาม

นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดทำ “โครงการนำร่องการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่เกษตรกร” เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารจัดการฝึกอบรมที่เหมาะสมสำหรับนำไปใช้ในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่เกษตรกรและคนว่างงานทั่วประเทศ พร้อมกำหนดแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรด้วย

เบื้องต้นทั้ง 2 หน่วยงานได้คิดค้นรูปแบบการฝึกอบรม แยกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ การฝึกอบรมวิชาชีพการผลิตสินค้าเกษตร มุ่งให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติเพื่อสร้างอาชีพ และเสริมรายได้ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจัดฝึกอบรม ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตร มีกลุ่มเป้าหมาย คือ แรงงานนอกภาคเกษตรที่ต้องการเข้าสู่ภาคเกษตรกรรม สำหรับเนื้อหาการฝึกอบรมเน้นให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรแบบผสมผสาน บรรยายและสาธิตการทำปุ๋ยหมัก การเพาะเมล็ดพืชผัก การปลูกมะละกอพันธุ์ดี

นอกจากนั้นยังมีการฝึกปฏิบัติการปลูกมะละกอ การปลูกและขยายพันธุ์กล้วยโดยวิธีการผ่าหน่อการปลูกเลี้ยงและขยายพันธุ์ไผ่หม่าจูโดยการตอนกิ่ง พร้อมนำชมและศึกษาดูงานการผลิตกล้วยไม้เชิงอุตสาหกรรม การเลี้ยงหน้าวัวและแปลงพันธุ์ไผ่หม่าจู ทั้งยังแจกปัจจัยการผลิตต้นแบบ เช่น พริก มะเขือ มะละกอ ให้ผู้เข้าฝึกอบรมนำไปผลิตเพื่อเสริมรายได้

รูปแบบที่ 2 การฝึกอบรมวิชาชีพนอกภาคเกษตร ดำเนินการจัดฝึกอบรมในศูนย์/ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน มีกลุ่มเป้าหมาย คือ แรงงานในภาคเกษตร โดยเปิดฝึกอบรมหลักสูตรการบำรุงรักษาเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร มีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์เล็ก การวิเคราะห์และแก้ไขการทำงานของเครื่องยนต์เล็ก พร้อมฝึกปฏิบัติการตรวจระบบการทำงาน การวิเคราะห์และการบำรุงรักษา นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย มีการบรรยายเกี่ยวกับการผลิตเชื้อเห็ด และการเพาะเห็ดฟางเน้นให้ฝึกปฏิบัติจริงด้วย เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมนำความรู้ที่ได้รับไปปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในฟาร์มของตนเอง เพื่อลดรายจ่าย หรือเสริมรายได้

รูปแบบที่ 3 การฝึกอบรมวิชาชีพด้านอุตสาหกรรมในครัวเรือน/หมู่บ้าน ซึ่งหลักสูตรนี้จัดฝึกอบรมในหมู่บ้าน/ชุมชนของกลุ่มเป้าหมาย มีทั้งแรงงานในและนอกภาคเกษตร โดยเนื้อหาการฝึกอบรมมีหลายกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ หลักสูตรหัตถกรรม การแปรรูปและถนอมอาหาร เน้นให้ความรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงาน การเลือกและจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ พร้อม ฝึกปฏิบัติการเลือกวัสดุ เตรียมวัสดุสำหรับการแปรรูป การนำวัสดุและส่วนผสมมากวน บด อบ หรือทอด ฝึกแปรรูปโดยการตากหรือผึ่งแดด ตลอดจนการนำอาหารที่แปรรูปแล้วมาบรรจุถุงผลิตภัณฑ์ด้วย คาดว่าจะช่วยพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร สามารถนำความรู้ไปแปรรูปอาหารไว้บริโภคภายในครัวเรือน หากเหลือก็จำหน่ายเป็นรายได้เสริม

…หากเกษตรกรหรือผู้ที่กำลังว่างงานสนใจ สามารถสอบถามข้อมูลได้ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ใกล้บ้าน….หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 0-2579-2131 อาจได้คำตอบและทางเลือกดี ๆ ที่จะนำมาซึ่ง “งาน และอาชีพใหม่”…ที่แน่ ๆ คือ งานรอคุณอยู่…

Leave a comment »

ปลูกมะนาวพันธุ์ ‘แป้นดกพิเศษ’ ให้ออกในช่วงฤดูแล้ง

วันที่ 23 มีนาคม 2552 จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ปีนี้ (ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2552) เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ราคาผลผลิตมะนาว   ฤดูแล้งของเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวเชิงพาณิชย์ขายมะนาวจากสวนได้ราคาสูงที่สุด มะนาวพันธุ์แป้นรำไพขนาดจัมโบ้ขายจากสวนได้ถึงผลละ 4 บาท เมื่อถึงผู้บริโภคจะสูงถึงผลละ 7-8 บาท เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวและสามารถผลิตให้ออกฤดูแล้งได้รวยไปตาม ๆ กันท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย มะนาวราคาแพงเช่นนี้จะทำให้เกษตรกรหลายรายขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น แต่ก่อน  ตัดสินใจปลูกเกษตรกรจะต้องพิจารณาเรื่องสายพันธุ์และศึกษาเทคนิคในการบังคับมะนาวให้ออก   นอกฤดูให้ถ่องแท้เสียก่อน

ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องสายพันธุ์มะนาวที่ปลูกในประเทศขณะนี้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ พันธุ์ทะวายและพันธุ์ธรรมดา พันธุ์ทะวายหมายถึงพันธุ์ที่มีการออกดอกง่ายออกเกือบตลอดทั้งปีและมีการทยอยออกหลายรุ่นในฤดูเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถ

กระตุ้นให้ออกนอกฤดูได้ง่าย สำหรับสายพันธุ์ทะวายส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์แป้น อาทิ พันธุ์แป้นรำไพ, แป้นจริยา, แป้นพวง ฯลฯ สำหรับพันธุ์ธรรมดาหรือพันธุ์ทั่วไป เช่น ตาฮิติ (ตาฮิติจัดเป็นมะนาวสายพันธุ์ต่างประเทศที่ไม่มีเมล็ดและค่อนข้างต้านทานต่อโรคแคงเคอร์ แต่คนไทยไม่ค่อยนิยมบริโภคเพราะน้ำไม่หอม), มะนาวน้ำหอมและมะนาวไร้เมล็ด เป็นต้น มะนาวในกลุ่มนี้ผลจะมีขนาดใหญ่และกระตุ้นให้ออกดอกยากกว่า     มะนาวพันธุ์แป้นรำไพและมีจำนวนผลน้อยกว่า

ในกลุ่มของมะนาวพันธุ์แป้นรำไพพบว่ามีเกษตรกรได้ทำการคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิต    สูงและมีลักษณะพิเศษออกไปคือ ผลใหญ่, เปลือกบาง ให้ผลผลิตดกมากและติดผลเป็นพวง ที่สำคัญมีปริมาณน้ำมาก, หอมและมีรสชาติ เหมือนกับมะนาวแป้นรำไพทุกประการ และได้มีการตั้งชื่อพันธุ์ว่า พันธุ์แป้นดกพิเศษ ปัจจุบันพันธุ์แป้นดกพิเศษ เริ่มมีเกษตรกรได้นำพันธุ์ไปขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้นแต่ส่วนใหญ่เจ้าของจะหวงพันธุ์ และถ้าจะให้ต้นมะนาวมีความสมบูรณ์และแข็งแรงควรจะใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการต่อยอดหรือติดตาบนต้นตอส้มต่างประเทศ เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดกมากและติดเป็นพวง อย่างไรก็ตามในการให้ปุ๋ยและน้ำอย่างสมบูรณ์มีความจำเป็นกับการผลิตมะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษ

ที่ผ่านมานอกจากจะคัดเลือกสายพันธุ์มะนาวที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกแล้ว ใน     การผลิตมะนาวให้ออกฤดูแล้ง เกษตรกรส่วนใหญ่ มักจะมีความผิดพลาดในเรื่องของการลงทุน  เมื่อถึงช่วงเวลาราคามะนาวถูกลงในช่วงฤดูฝน เกษตรกรมักจะไม่บำรุงรักษาเท่าที่ควร มะนาวยังจัดเป็นพืชที่มีความต้องการอาหารที่สมบูรณ์และมีโรคและแมลงรบกวนมาก ถ้าต้นมะนาวขาดความสมบูรณ์ การผลิตมะนาวให้ออกฤดูแล้งก็ล้มเหลวตามไปด้วย.

ทวีศักดิ์  ชัยเรืองยศ

Leave a comment »

CM-07นามพระราชทานงาดำปลอดโรคต้านฝักแตก

16 มี.ค. 52 จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

งาดำ…เป็นพืชน้ำมันที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ในอนาคตตลาดโลกมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะสารอาหารจำพวก กรดพาราอะมิโนแอซิด โอเมก้า–3 สารเซซามอน ส่วนสารเซซามีน

อีกทั้งยังมี โปรตีนมากกว่าในนมวัวถึง 2 เท่า มี แคลเซียมมากกว่าพืชผัก 40 เท่า อุดมไปด้วย วิตามินอี วิตามินบี 2, 3, 5, 6, 9 ธาตุเหล็ก สังกะสี และ ฟอสฟอรัส ปัจจุบันจึงมีการใช้ประโยชน์จากงาดำ โดยนำมาสกัดเป็น น้ำมันงา เป็นอาหารเพื่อโภชนาการที่ดี ผสมกับ เส้นหมี่สำเร็จรูป ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และ กากงาดำ ที่เหลือยังสามารถใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย

บ้านเรามีศักยภาพในการผลิต เพราะ ปลูกง่าย ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง…ที่สำคัญลงทุนน้อย ค่าตอบแทนสูง แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการ ฝักแตกง่ายทำให้เมล็ดร่วง อีกทั้งยังมี โรคเน่าดำ โรคเหี่ยว โรคยอดฝอย รวมทั้งยังมีแมลงศัตรู เช่น หนอนห่อใบงา หนอนผีเสื้อหัวกะโหลก มวนต่างๆ และ เพลี้ย จึงทำให้ผลผลิตต่ำ

คณะห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.วาสนา วงษ์ใหญ่ และ รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยการพัฒนาสายพันธุ์งาดำ

รศ.ดร.วาสนา วงษ์ใหญ่ เล่าถึงขั้นตอนปฏิบัติการว่า….เริ่มทดลองปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ด้วยวิธีการผสมสายพันธุ์งาดำมาจากคู่ผสม KUsr6040®China2 โดยคัดเลือกแบบจดประวัติ (pedigree selection) ได้สายพันธุ์ TQ8069 (KUsr 6040®China2-3-2-2-1) กระทั่งได้ลักษณะประจำของสายพันธุ์ใหม่ โดยมีอายุการ ออกดอกประมาณ 36 วัน อายุ เก็บเกี่ยวประมาณ 92–100 วัน ระดับความสูงของ ลำต้นอยู่ที่ 93–100 ซม.

….ทรงต้น แตกกิ่ง 2–4 กิ่ง ฝักมีจำนวน 6 ฝักต่อต้น มุมใบและเมล็ดคงเหลืออยู่ในฝัก 97 เปอร์เซ็นต์ รูปร่างฝัก 2 คาร์เพล (bicarpellate) การเรียงตัวของฝักจะเป็นแบบตรงกันข้าม และเวียนสลับรอบลำต้น จำนวนฝักต่อมุมใบ 1 ฝักมุมใบ น้ำหนักชั่งจากจำนวน 1,000 เมล็ด ประมาณ 3.96 กรัม ให้ผลผลิต 360 กก.ต่อไร่ และเมล็ดสีดำเปลือกหุ้มเมล็ดชั้นเดียว

ลักษณะที่เด่นชัดจะไม่ค่อยมี โรคและแมลงมารบกวน มีที่ฝัก ต้านทานการแตก (shatter resistance) เมื่อฝักสุกแก่ปลายฝักเปิดอ้า เมล็ดร่วงจากฝักเล็กน้อย โดยตรวจสอบด้วยการเขย่าฝักและนำฝักมาคว่ำปลายฝักลง พบว่า มีเมล็ดคงเหลืออยู่ในฝักประมาณ 97 เปอร์เซ็นต์ ฝักปิดสนิท (closed capsule) ประมาณ 2-50 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำ เครื่องนวดข้าว ถั่วเหลือง หรือ ถั่วเขียว มาใช้ในการ กะเทาะเมล็ด ได้

และ…..เปลือกหุ้มเมล็ดก็ไม่ได้รับความเสียหาย สามารถ ลดการสูญเสียผลผลิตจากเมล็ดร่วง ได้ แตกต่างจากพันธุ์งาดำฝักแตกที่ปลูกกันอยู่ทั่วไป อีกทั้งเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดไว้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกต่อได้

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ พระราชทานนาม พันธุ์งาดำชนิดใหม่ว่า CM–07 ซึ่งเป็นอักษรย่อ พระนามภาษาอังกฤษ และปีที่เริ่มทำการวิจัย

หากเกษตรกรหรือนักวิชาการสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ รศ.ดร.วาสนา วงษ์ใหญ่ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ 10900 หรือกริ๊งกร๊าง 0-2579-3130, 0-2579-4371 Fax 0-2579-8580 ในเวลาราชการ หรือคลิกดูที่ http://agron.agr.ku.ac.th

ไชยรัตน์ ส้มฉุน

Leave a comment »

จุลินทรีย์จากขยะ….ยับยั้งเชื่อราในโรคพืช

วันที่ 9 มีนาคม 2552 จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ต้นทุนถูกกว่าสารเคมีไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

จากปัญหาเชื้อราก่อให้เกิดโรคในพืช และทำให้เกษตรกรต้องไปซื้อสารเคมีหรือยาปราบศัตรูพืชมาใช้ในการทำลายเชื้อราดังกล่าว ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้น ทั้งสารเคมียังมีการตกค้างทำลายสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้นักวิจัยมีแนวความคิดที่จะหาสารชีวภาพ ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ไม่ให้เชื้อราอันก่อให้เกิดโรคพืชเจริญเติบโตได้และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้ทดแทนกัน…

ผศ.ประสาท โพธิ์นิ่มแดง อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวถึงความเป็นมาในการค้นพบ จุลินทรีย์จากขยะ ซึ่งมีศักยภาพยับยั้งการเจริญ  เติบโตของเชื้อราในโรคพืช

ผศ.ประสาท สาธยายให้ฟังว่า Bacillus Subtilis เป็นเชื้อจุลินทรีย์ชนิดแรกที่ค้นพบจากขยะโดยมีมากในขยะอินทรีย์ สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Fusarium oxysporum ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศ โดยกระบวน การทดลองในการศึกษาวิจัยใน   ครั้งนี้ ได้นำขยะมาคัดเลือกเพื่อแยกเศษพลาสติกออก เอาเฉพาะขยะสีเขียว โดยนำตัวอย่างขยะมาประมาณ 10 กรัม ทำการแขวนลอยในสารละลายบัพเฟอร์ปริมาตร 90 มิลลิลิตร เขย่าให้เข้ากัน และนำมาทำการเพิ่มจำนวนในอาหารเลี้ยงเชื้อ จากนั้นนำเชื้อไปทาบนผิวหน้าอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดแข็งด้วยแท่งแก้วงอ เพื่อให้ได้กลุ่มของเชื้อแบคทีเรีย และนำไปทดสอบการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศ ที่มีชื่อว่า Fusarium oxysporum ที่มักระบาดในต้นมะเขือเทศที่ปลูกใหม่ ผลการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการได้ผลประมาณ 80% ในการป้องกันโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศ

ภายหลังศึกษาเพิ่มเติม ผศ.ประสาท พบจุลินทรีย์อีกหนึ่งชนิดที่มีประสิทธิภาพมาก   กว่าและต้นทุนในการเลี้ยงเชื้อถูกกว่า Bacillus Subtilis โดยสามารถออกฤทธิ์ในการยับยั้งไม่    ให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดีกว่า รวมทั้งป้องกัน    การเกิดโรคในพืชได้มากกว่าเดิม ทั้งนี้ นอก      จากยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคเหี่ยวในมะเขือเทศได้แล้วยังสามารถยับยั้งเชื้อรา Collectoticum ที่ก่อให้เกิดโรคกุ้งแห้งในพริกได้ 100% อีกด้วย โดยโรคกุ้งแห้งในพริกนี้จะส่งผลให้พริกเหี่ยวงอเหมือนตัวกุ้ง สีดำ ต้องเด็ดทิ้งไม่สามารถนำออกขายได้

“สำหรับจุลินทรีย์ตัวใหม่ที่ค้นพบนั้น จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการคาดว่าน่าจะเป็น Actinomyces ซึ่งจะได้ทำการศึกษาในห้อง     ปฏิบัติการ เพื่อยืนยันชนิดของจุลินทรีย์ที่ค้นพบ      ต่อไป พร้อมทั้งนำไปขยายผลการทดลองในแปลงทดสอบด้วย และจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ จุลินทรีย์ตัวใหม่นี้ใช้น้ำแป้งข้าวเจ้าและแป้งมันสำปะหลังเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อ ดังนั้น น้ำทิ้งจาก      โรงงานผลิตเส้นขนมจีน หรือน้ำทิ้งจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ก็สามารถนำมาเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ตัวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์จากของเสียได้อีกทางหนึ่ง” ผศ.ประสาท กล่าว

สำหรับการพัฒนางานวิจัยในขั้นต่อไป นักวิจัยจะผลิตสารสกัดจากเชื้อจุลินทรีย์    ที่คัดแยกจากขยะหรือของเสีย ในรูปแบบผงแห้งและชนิดน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำ       ไปใช้ได้โดยสะดวก ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนลงได้

เกษตรกรรายใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ประสาท โพธิ์นิ่มแดง ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.ขอนแก่น โทร. 0-4336-2006 หรือ 08-9422-2207.

Leave a comment »

เผยทรงห่วงเร่งทำ’ฝนหลวง’แก้ภัยแล้ง

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายเมธา รัชตะ ปิติ ผู้ทรงวุฒิโครงการฝนหลวง เปิดเผยว่ารัฐบาลควรนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทั้งพระราชดำรัสให้สร้างฝายชะลอน้ำและเทคนิคการทำฝนหลวงพระราชทาน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีแต่โครงการเมกะโปรเจคท์ ผันน้ำซึ่งใช้งบจำนวนมาก ตนมองว่าหากจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต้องให้ประชาชนมีแหล่งน้ำกินน้ำใช้ในครัวเรือน โดยสนับสนุนให้มีแท็งก์น้ำขนาด 3,000 ลิตร ทุกหลังคาเรือน และการขุดสระ หรืออ่างเก็บน้ำในหมู่บ้าน เมื่อประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้ก็จะไม่เดือดร้อนมาก

ขณะที่นายวราวุฒิ ขันติญานันท์ ผอ. สำนักฝนหลวง เปิดเผยว่าตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งห่วงภัยแล้งปีนี้ว่ามาเร็ว กว่าทุกปี โดยเฉพาะกรมชลประทาน และสำนักฝนหลวงได้ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงเร็วกว่าแผนประจำปี เพื่อช่วยเหลือราษฎรและพื้นที่การเกษตร ซึ่งแผนปฏิบัติการฝนหลวงได้เริ่มเร็วกว่าแผนประจำปีที่กำหนดไว้ โดยเริ่มปฏิบัติฝนหลวงและตั้งฐานฝนหลวงที่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ระยอง หัวหิน และชุมพร

“ขณะนี้หลายพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ เริ่มมีฝนตกแล้วจากการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง ทำให้เกิดฝนตกคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง และเดือน มี.ค. นี้จะเริ่มทำฝนหลวงที่ จ.ขอนแก่น นครราชสีมา เพราะประชาชนมีความต้องการฝน จึงต้องเริ่มทำฝนหลวงเร็วกว่าหนึ่งเดือน.

Leave a comment »

ต่อชีวิตสมาชิกสปก.หลังค.ป.ก.ขยายเวลาชำระหนี้

19 ก.พ. 52 จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในทุกปี ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมต้องประสบกับสถานการณ์ดังกล่าว ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤษภาคม ฉะนั้นคณะกรรมการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ค.ป.ก.) จึงมีมติให้เตรียมการช่วยเหลือ ด้วยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เงินต้น ยกเว้นดอกเบี้ยเงินกู้ฯ และยกเว้นการเก็บค่าเช่าทั้งหมดเป็นเวลา 3 ปี

นอกจากนี้ หากเกษตรกรต้องการปรับโครงสร้างการผลิตพืชชนิดใหม่ ส.ป.ก. จะบริการเครื่องจักรกลในการขุดสระ พร้อมจัดเตรียมเงินทุนเพื่อใช้ดำเนินการดังกล่าว พร้อมทั้งเป็นตัวกลางดูแลเรื่องการตลาด การจัดการผลผลิตในพื้นที่ซึ่งเข้าร่วมโครงการไตรภาคีกับภาคเอกชน ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรในเขตปฏิรูปฯ ซึ่งเชื่อว่าองค์ความรู้ที่เกษตรกรได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้สามารถรับมือและผ่านวิกฤติไปได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หลังการตรวจสอบข้อมูลใน 46 จังหวัด พบว่ามีพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินประสบอุทกภัยจำนวน 18 จังหวัด 55 อำเภอ 164 ตำบล รวมพื้นที่ได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกิน (ส.ป.ก.4-01) ทั้งสิ้นจำนวน 2,146,203 ไร่ จำนวนเกษตรกร 127,038 ราย และมีผู้รับผลกระทบดังกล่าว 4,121 ราย.

Leave a comment »

‘ปุ๋ยหมักรักษ์ดิน’ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางพรวด

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

จากผลผลิตที่เหลือทิ้งช่วยลดต้นทุนการใช้จ่าย

การรวมกลุ่มไม่ว่าจะจัดทำกิจกรรมใด ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะดีมากกว่า กล่าวคือการรวมกลุ่มทำงานต่าง ๆ อาจจะทำให้เกิดความคิดใหม่ ๆ เกิดอำนาจการต่อรองในกรณีที่จะต้องขายสินค้าที่เหมือนกันกับพ่อค้าคนกลาง แต่บางครั้งการรวมกลุ่มก็ย่อมต้องมีปัญหาบ้างเพราะเป็นเรื่องของคนหมู่มาก ที่ต่างความคิดเห็น เช่นเดียวที่ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกไม้ผล ยางพารา ปาล์มน้ำมันและกาแฟ โดยเฉพาะกาแฟแต่ละปีเหลือแกลบกาแฟที่ได้จาก  การสีเหมือนสีข้าวจำนวนมาก มาย ถูกปล่อยทิ้งไว้หลังโรงสีกาแฟ

กลุ่มวิสาหกิจชุม ชนบ้านบางพรวด ต.ลำเลียบ อ.กระบุรี จ.ระนอง จึงได้คิดนำเอาแกลบกาแฟมาทำปุ๋ยหมัก เป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน สมาชิกที่นำปุ๋ยหมักรักษ์ดินไปใช้ ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าพืชเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งในสวนปาล์ม กาแฟ ยางพาราและ อื่น ๆ และที่สำคัญสามารถลดค่าใช้จ่าย ค่าปุ๋ยเคมีได้มาก คืนความสมบูรณ์ให้แก่ดิน ดินร่วนซุย ในอนาคตอาจจะเพิ่มปริมาณการผลิตให้มากกว่าเดิม ที่ผลิตได้ครั้งละ  3 ตัน เพื่อแบ่งขายให้เกษตรกรทั่วไปด้วย และจะพัฒนาเป็นปุ๋ยหมักอัดเม็ด

นายสัมฤทธิ์ ฉิมมา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านบางพรวด กล่าวว่า ทาง กลุ่มมีสมาชิก 36 คน มีการประชุมทุกวันที่ 10 ของเดือน เพื่อวางแผนการผลิตปุ๋ยและส่งเงินออมทรัพย์ จนถึงวันนี้มีเงินทุนเกือบแสนบาท ก่อนหน้านี้ลงทุนปลูกอ้อยคั้นน้ำและปลูกข่าเหลือง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จอันเนื่องมาจากปัญหาด้านการตลาดและปัจจัยการผลิตมีราคา สูงมาก ต่อมาเห็นว่านับวันปุ๋ยเคมีแพงตามราคาน้ำมันขึ้นทุกวัน เราน่าจะลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง หันมาใช้ปุ๋ยหมักให้มากขึ้น จึงได้เริ่มต้นทำปุ๋ย หมักรักษ์ดิน โดยการสนับสนุนของเกษตรอำเภอกระบุรี และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย

สำหรับขั้นตอนการทำปุ๋ยหมัก เริ่มต้น ที่นำแกลบกาแฟเก่าค้างปีจากโรงสีที่มีในพื้นที่
6 โรง นำมาผสมกับ
ปุ๋ยคอก อัตราแกลบกาแฟ 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากันโดยใช้เครื่องผสม และราดด้วยน้ำอีเอ็มปุ๋ยอินทรีย์ น้ำ และกากน้ำตาลพอหมาด ๆ เมื่อผสมคลุกเคล้ากันดีแล้วเทลงบรรจุกระสอบขายให้กับสมาชิกและเพื่อน เกษตรกร

นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของชุมชน เข้มแข็ง ร่วมกันคิดร่วมกันผลิต ร่วมกันใช้ ปุ๋ยหมักรักษ์ดิน เป็นการลดต้นทุนการผลิตและคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินอย่างยั่งยืนต่อไป เมื่อดิน  ดี พืชเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตดี มีรายได้เพิ่ม ชีวิตเกษตรกรก็มีความสุข.

ไพโรจน์ รัตนรัตน์

Leave a comment »