Posts tagged ธรรมชาติบำบัดธรรมช

เยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม หมักหอยเชอรี่ใช้ทดแทน เคมี

12 พ.ย. 51 จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

“โครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติ”…เป็นกิจกรรมที่ดีทันท่วงทีกับ สถานการณ์ความเลวร้ายของสภาพสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

โครงการนี้จัดตั้งโดย มูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธานกรรมการ และ กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย ร่วมกันบูรณาการ

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรม คือ การกำจัดหอยเชอรี่ ซึ่งถือเป็น ศัตรูตัวสำคัญ ของเกษตรกร เพราะมันเป็นสัตว์ที่เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว มีความอดทนต่อความแห้งแล้งและยังสามารถลอยตัวไปตามน้ำไหลได้อีกด้วย

อาหารหลักของหอยเชอรี่ คือพืชที่มีลักษณะนุ่ม จำพวก สาหร่าย ผักบุ้ง ผักกระเฉด แหน ซากพืชน้ำ ซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยในน้ำ และ ต้นข้าว

ในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรมีหลายวิธีในการ กำจัดหอยเชอรี่ ทั้งการจัดเก็บเพื่อทำลาย โดยใช้สิ่งกีดขวาง เช่น ตาข่ายดักจับ ใช้ไม้หลักปักในนาข้าว เพื่อให้หอยมาวางไข่ตามหลักที่ปักไว้แล้วนำไปกำจัดทิ้ง หรือ การใช้สารเคมีฆ่าหอยเชอรี่ และ ชีววิธีโดยการเลี้ยงสัตว์ ที่กินหอยเชอรี่เป็นอาหารอย่างเช่น เป็ด นกกระยาง นกกระปูด นกอีลุ้ม และ นกปากห่าง เป็นต้น

กลุ่มสมาชิกชมรมยุวเกษตร โรงเรียนโพธิ์ตากพิทยาคม จังหวัดหนองคาย เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เขามีวิธีการใช้ประโยชน์จากหอยเชอรี่ โดย การทำ น้ำหมักจากหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นสูตรที่เยาวชนคิดค้นขึ้นตาม แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการ “ใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ” เพื่อนำมาใช้บำรุงและฟื้นสภาพดินที่แห้งแข็งจากปุ๋ยเคมีให้ร่วนซุยและมีธาตุอาหารมากขึ้น

ด.ช.ภัทรวิทย์ บุญพรม หรือน้องฟิวส์ หนึ่งในสมาชิกชมรมยุวเกษตรของโรงเรียนโพธิ์ตาก เล่าให้ฟังว่า น้ำหมักหอยเชอรี่ทำง่ายมากๆ แค่ใส่กากน้ำตาลลงไปคลุกกับหอยเชอรี่ แล้วหมักไว้ประมาณ 15 วันก็ใช้ได้ แต่ยิ่งเก็บไว้นานก็ยิ่งดี…เทคนิคที่สำคัญ ถ้าขยันทุบหอยให้แตกอย่างละเอียด ก็จะนำมา ใช้ได้เร็วขึ้น เพราะหอยชิ้นเล็กลงจะย่อยสลายง่ายขึ้น น้ำหมักที่ได้นำมาผสมน้ำ 20 เท่า ใช้รดน้ำต้นไม้งอกงามดี เป็นการใช้แทนปุ๋ยเคมีและสารเคมี

สำหรับสูตรน้ำหมักหอยเชอรี่ ประกอบด้วยหอยเชอรี่ 30 กิโลกรัม และ กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม คลุกเคล้าผสมกัน ทิ้งไว้ประมาณ 15-30 วัน นำมาใช้รดน้ำผัก รดน้ำต้นไม้ได้โดยผสมน้ำเปล่าในอัตรา 1:20 อาจใช้ผลไม้สุก หรือขยะเปียก พวกเศษอาหารแทนหอยเชอรี่ก็ได้

“ผมกับแม่ก็ช่วยกันทำน้ำหมัก ใช้รดผักสวนครัว ไม่ได้ใช้หอยเชอรี่ แต่เอาเศษอาหาร น้ำก๋วยเตี๋ยว เศษผักที่เหลือจากร้านขายก๋วยเตี๋ยวมาหมักแทน บางทีก็ใช้มันสำปะหลัง เพราะมีไร่มันสำปะหลัง ซึ่งคิดว่าควรจะต้องดูว่าวิถีชีวิตใครมีอะไรใกล้ตัวก็นำมาใช้ได้อย่างง่ายๆ” ภัทรวิทย์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังเน้นส่งเสริม การเรียนรู้ด้วยการศึกษาสภาพภูมิสังคม และ การลงมือปฏิบัติจริง โดยตั้งโครงการทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ช่วย ลดปัญหาภาระหนี้สิน จาก การใช้ปุ๋ยเคมี ของชุมชน เกษตรกรโดยรอบอีกด้วย

โรงเรียนโพธิ์ตากพิทยาคม…ยังเป็นเครือ ข่ายของ “โครงการพัฒนาศักยภาพปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของชุมชนโพธิ์ตาก และได้รับเลือกเป็น โรงเรียนตัวอย่าง ด้านการจัดการขยะของ “โครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมดีเด่น เฉลิมพระเกียรติ” อีกด้วย

…นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างใน การสร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อมของเยาวชนไทย…สนใจข้อมูลเพิ่มเติม กริ๊งกร๊างที่ศูนย์ประสานงานโครงการฯ 0-2751-8166, 0-2752-7697 หรือคลิกที่ www.hondagreenschool.com

ไชยรัตน์ ส้มฉุน

Leave a comment »