Posts tagged เศรษฐกิจพอเพียง

กลุ่มประมงแก่งกระจาน ใช้เศรษฐกิจพอเพียงแก้ วิกฤติ

29 ต.ค. 51 จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน…อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นอกจากจะกักเก็บทรัพยากรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรมแล้ว ยังมีบทบาทต่อการ ประมง ถือว่าเป็น แหล่งผลิตอาหารเลี้ยงชาวเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียงได้ อย่างอุดมสมบูรณ์

ชุมชนที่ประกอบอาชีพทำประมงน้ำจืด อาศัยในปริมณฑลอ่าง เก็บน้ำแห่งนี้ มี 6 ชุมชน ใน 2 ตำบล พวกเขารวมตัวตั้งชื่อกันว่า กลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำประมง น้ำจืดเพื่อการอนุรักษ์ และ พัฒนาอาชีพอ่าง เก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน

สมาชิกกลุ่มของ 2 ตำบลนี้คือ ตำบลแก่งกระจาน 4 ชุมชน ประกอบด้วย หมู่บ้านท่าเรือ หมู่บ้าน น้ำทรัพย์ หมู่บ้านพุบอน และหมู่บ้านพุเข็ม…ส่วน ตำบล สองพี่น้องมี 2 หมู่บ้าน คือท่าลิงลมกับวังวน สมาชิก กลุ่มประมงน้ำจืดเหล่านี้มีความสนิทสนมคุ้นเคยกัน แม้ว่าจะอยู่คนละชุมชนบางรายก็เป็นญาติกันหรือไม่ก็เป็น มิตรสหายที่รักกันเสมือนกับญาติ…จึงไม่เคยมีการกระทบกระทั่ง หรือ ทะเลาะวิวาท

นายสุชาติ นกวอน กำนันตำบลแก่งกระจาน เล่าถึงปูมหลังว่า…ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์ แล้วเกิด ปัญหาเพราะความไม่เข้าใจ ด้วยการทำประมงแบบเห็นแก่ตัว ใช้ ทั้งยาเบื่อ และ ระเบิดปลา จนเข้า สู่วิกฤตการณ์ ขาดแคลนทรัพยากร สัตว์น้ำที่จะหามาเลี้ยงชีพได้

ประสบการณ์เป็นบทเรียนที่ดี พวกเขาจึงหันเข้ามาจับมือกันปรึกษาหารือ ในแนวทางสร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส ปัจจุบันชาวชุมชนประมง มีวิธีการในการบริหารจัดการประมง โดยใช้ประชาคมอาชีพทำประมงน้ำจืดเป็นหลัก… ไม่ต้องผ่านหน่วยงานราชการใดๆ ทั้งนั้น

และ…ทำการ จัดแบ่งเขต และ พื้นที่ ตามความสำคัญ เช่น พื้นที่สีแดง คือเขตแหล่งพ่อ-แม่ พันธุ์สัตว์น้ำ ห้ามทำการประมงตลอดทั้งปี จุดสีแดง เขตฟื้นฟูสัตว์น้ำหน้าบ้าน (จัดทำกันเองเพื่อให้สัตว์น้ำได้ อาศัย) พื้นที่สีเหลือง เขตควบคุมแหล่งวางไข่และเลี้ยงตัวสัตว์น้ำวัยอ่อน และ พื้นที่สีน้ำเงิน เขตที่ทำการประมงได้…มีการปักป้ายและกำหนดสีกันอย่างชัดเจนเป็นที่รู้กันในการปฏิบัติ…

ผู้นำชุมชน และ หน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวกับการประมง มีหน้าที่แค่เป็นพี่เลี้ยงคอย ให้คำปรึกษาในบางกรณีเท่านั้น…!!!

การจัดการในการ ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ อย่างจริงจังนี้ เมื่อปี 2550 กลุ่มเพื่อทำกิจกรรมในการอนุรักษ์ และ พัฒนาอาชีพด้านการประมง จึงได้รับการคัดเลือกเป็น ชุมชนประมงต้นแบบดีเด่น

สัตว์น้ำจากแก่งกระจานที่ป้อนตลาดทุกวัน 5 อันดับแรก คือ ปลาบู่ กุ้งก้ามกราม ปลาหมอ ช้างเหยียบ หรือ (ปลาตะกับ) และ ปลานิล ซึ่งทำรายได้เฉลี่ยวันหนึ่ง ไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อคน

ซึ่ง…สามารถมีความสุขอย่าง เพียงพอ ตามวิถีของเศรษฐกิจ พอเพียง…!!

ไชยรัตน์ ส้มฉุน

Leave a comment »

เลี้ยง’โคพื้นเมือง’แก้วิกฤติพลังงาน

วันที่ 22 กันยายน 2551จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เกษตรทั่วไทย : เลี้ยง ‘โคพื้นเมือง’ แก้วิกฤติพลังงาน-เพิ่มรายได้เกษตรกร
“ข้าพเจ้าเป็นทุกข์แทนชาวนาไทย ซึ่งก็ยังยากจน เพราะว่านอกจากน้ำมันแพงแล้ว ปุ๋ยก็ยังแพงมากอีกด้วย ข้าวของทุกอย่างพากันขึ้นตามราคาน้ำมันไปหมด อันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เวลาท่านทอดพระเนตรเห็น อย่างไปทรงเยี่ยมตามจังหวัดต่าง ๆ เห็นประชาชนเลิกใช้ควายไถนา มาใช้รถ นัยว่าสมัยใหม่กว่า ใช้รถไถนา ควายก็กลายเป็นไม่มีค่าอะไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งบอก นี่ ต่อไปถ้าน้ำมันแพงขึ้น ๆ นี่ ชาวนาเหล่านี้จะทำยังไง ได้ทิ้งควายไปแล้ว เพราะควายตัวนี้ก็ต้อง มาฝึก ฝึกกันใหญ่ เข้าโรงเรียนฝึกหัดไถนา (ทรงพระสรวล) เพราะถูกทอดทิ้งไปตั้งหลายปี จะ ไถนาไม่เป็นตอนนี้ สู้น้ำมันไม่ไหว แล้วน้ำมัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง ก็ไม่มีวันที่จะลงหรอก” พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551
จากพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ข้างต้นนี้ ทำให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินโครงการหลายโครงการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการสานต่อโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อ เกษตรกรตามพระราชดำริ (ธคก.) หรือโครงการการเลี้ยงโคพื้นเมืองช่วยลดการใช้น้ำมัน ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ภายใต้การผลิตตามระบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรสามารถผ่านพ้นวิกฤติน้ำมันแพงไปได้

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สมัยโบราณเกษตรกรไทยทำการเกษตรโดยอาศัยแรงงานจากโคในไร่นา หรือใช้เพื่อเทียมเกวียน เป็นพาหนะขนผลผลิตต่าง ๆ และในปัจจุบันวิถีชีวิตดั้งเดิมเหล่านั้น กำลังจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง เพื่อลดการใช้พลังงานต่าง ๆ เช่น น้ำมัน และเครื่องจักรกล ตลอดจนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

“โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ของเกษตรกรเครือข่าย อ.เวียงสา จ.น่าน และเกษตรกรเครือข่าย อ.สอง จ.น่าน โดยเกษตร กรได้เลี้ยงโคพื้นเมือง และลูกผสมพื้นเมืองฟาร์มละ 4 ตัว ผสมผสานกับการปลูกพืช เช่น ปลูกข้าวโพด ทำนา สวนผลไม้ โดยใช้สิ่งเหลือใช้จากการปลูกพืช และหญ้าสดจากทุ่งหญ้าธรรม ชาติ เป็นอาหารของโคพื้นเมือง ตลอดจนใช้มูลโคเป็นปุ๋ยชีวภาพ บำรุงดินตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

ด้าน นายประทีป อินแสง เกษตรกรเครือข่ายโคพื้นเมือง อ.เวียงสา จ.น่าน เล่าให้ฟังว่า เคยรับราชการครูสังกัดกรมสามัญฯ แต่ได้ลาออกมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยยึดหลักเศรษกิจพอเพียง ทำนา 5 ไร่ และทำการเกษตรอื่น ๆ อีก 5 ไร่เลี้ยงโคพื้นเมือง และโคลูกผสมพื้นเมือง 4 ตัว ใช้เป็นแรงงาน 2 ตัว และสามารถขายลูกโคได้ปีละ 2 ตัว ราคาตัวละ 4,500 บาท นอกจากนี้ ยังใช้แรงงานโคในการทำนาและการขนส่งต่าง ๆ ทุกเดือน ทำให้สามารถลดต้นทุน ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ปีละ 6,533 บาท

ขณะที่ นายประชัน ศรีปัญญา เกษตรกรเครือข่ายโคพื้นเมือง ต.ห้วยหม้าย อ.สอง จ.แพร่ บอกว่า ได้เลี้ยงโคพื้นเมืองและ โคลูกผสมพื้นเมือง 4 ตัว โดยใช้เป็นแรงงานในการทำนา 2 ตัว และใช้ปุ๋ยจากมูลโคในการเกษตรอื่น ๆ อีกทั้งยังสามารถขายลูกโคได้ปีละ 2 ตัว ราคาตัวละ 12,250 บาท นอกจากนี้ ยังใช้แรงงานโคในการขนส่งต่าง ๆ ทุกเดือน ช่วยประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ปีละ 6,047 บาท

นับว่า การเลี้ยงโคพื้นเมือง เป็นอีกทางเลือกและทางรอดอีกทางหนึ่งของเกษตรกรไทยในยุคน้ำมันแพงเช่นนี้.

Leave a comment »

‘ปลูกผักสามัญประจำบ้านฯ’ ลดรายจ่ายชุมชนเมือง

วันที่ 6 สิงหาคม 2551 จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งดำเนินโครงการปลูกผักสามัญประจำบ้านเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนของชุมชนเมือง โดย   มุ่งสนับสนุนให้ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปลูกผัก 5 ชนิด ได้แก่ มะเขือเปราะ กะเพรา โหระพา พริกขี้หนู และมะละกอ ไว้บริโภคภายในครัวเรือน ด้วยการนำภาชนะหรือวัสดุเหลือใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปลูก และใช้พื้นที่ว่างที่มีค่อนข้างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้

เบื้องต้นคาดว่าจะมีประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัด สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ไม่น้อยกว่า 50,000 ราย ได้แก่ กรุงเทพฯ 12,000 ราย นนทบุรี 15,000 ราย ปทุมธานี 10,000 ราย และ      สมุทรปราการ 13,000 ราย ซึ่งหลังจากพืชผักทั้ง 5 ชนิดให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวบริโภคได้แล้ว คาดว่าจะสามารถช่วยลดรายจ่ายให้ครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่างน้อย 120 บาท/ครอบครัว/เดือน คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 72 ล้านบาท/ปี และยังจะก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีในชุมชนด้วย

นายทรงศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครประชาชนเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งมีผู้สนใจจำนวนมาก จากนั้นจะเร่งฝึกอบรม สมาชิก เพื่อให้ความรู้เรื่องการปลูกผักสามัญประจำบ้านเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง โดยกรมฯได้เตรียมสนับสนุน หกล้าพันธุ์ผักรวมกว่า 500,000 ต้น ไว้ให้ผู้เข้า      ร่วมโครงการและผ่านการอบรมนำไปปลูกรายละประมาณ 10 ต้น (ชนิดละ 2 ต้น) ด้วย ซึ่งผักทั้ง 5 ชนิดเป็นผักที่ปลูกง่าย มีพื้นที่ว่างขนาด 1-5 ตารางเมตร ก็สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องปลูกในแปลง แต่ปลูกในภาชนะแทน เช่น ปลูกในกระถาง ยางรถยนต์เก่า กะละมัง และ ขวดน้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากมีความสนใจและต้องการเข้าร่วมโครงการปลูกผักสามัญประจำบ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวชุมชนเมือง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรกรุงเทพมหานคร สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ และกรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ 0-2940-6106.

Leave a comment »